ในภาวะที่โลกกำลังเดินทางเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ บวกกับความเจริญทางการแพทย์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างมาก ทำให้มนุษย์มีอายุยืนมากขึ้น แต่ก็พ่วงมากับปัญหาอาการเจ็บป่วยเรื้อรังในผู้สูงอายุ และแน่นอนว่า ผู้สูงอายุต้องการผู้ที่ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งก็ได้แก่ คนในครอบครัวหรือ คนดูแลที่ได้รับการจ้าง และเชื่อไหมว่าจากการศึกษามากมาย ได้บ่งชี้ว่า งานดูแลผู้สูงอายุ เป็นงานที่ต้องเผชิญภาวะกดดันและความเครียดมากมายจากหลายปัจจัย ได้แก่
- ขาดการเข้าสังคม
- ต้องเผชิญปัญหาใหม่ตลอดเวลาและไม่คุ้นเคย
- ใช้เวลากับผู้ป่วยเป็นเวลานาน
- ขาดทักษะในการเผชิญความเครียด
สัญญาณบ่งบอกความเครียดของผู้ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ
สัญญาณบางอย่าง จะเตือนให้เราต้องระวังภาวะเครียดเกินไปในการดูแลผู้สูงอายุ และเป็นเหตุให้เกิดความผิดปกติทางจิตใจและส่งผลต่อร่างกาย ซึ่งเราก็ต้องคอยจับสัญญาณเหล่านี้ก่อนจะเป็นผู้ป่วยทางจิตเสียเอง
- รู้สึกหวาดกลัวหรือกังวลอย่างต่อเนื่อง
- มีอาการเหนื่อยบ่อยครั้ง
- นอนหลับมากเกินไปหรือหลับไม่เพียงพอ
- น้ำหนักเพิ่มหรือลด
- มีอาการฉุนเฉียวหรือโกรธง่าย
- สูญเสียความสนใจในกิจกรรมที่เคยเพลิดเพลิน
- รู้สึกเศร้า
- มีอาการปวดหัวหรือเจ็บปวดที่ร่างกายบ่อยครั้ง
- การใช้แอลกอฮอล์หรือยาเสพติดรวมทั้งยาที่ต้องสั่งโดยแพทย์
การมีความเครียดสะสมเป็นเวลานาน อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเราในฐานะผู้ดูแล ส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะมีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล นอกจากนี้เราอาจไม่ได้พักผ่อนหรือออกกำลังกายเพียงพอ หรือรับประทานอาหารที่สมดุล จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอย่างมาก เช่น อาจมีโรคหัวใจและโรคเบาหวานตามมา
วิธีจัดการความเครียดของผู้ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ
เป็นเรื่องปกติที่ผู้ดูแลจะต้องเจอกับสภาวะที่ตึงเครียดจากการดูแลผู้สูงอายุ เพราะด้วยความที่ผู้ป่วยอาจจะมีภาวะสุ่มเสี่ยงหลายอย่างจากโรคภัยที่ประสบอยู่ ดังนั้นหากไม่ระมัดระวังก็อาจจะทำให้โรคนั้นลุกลามมากกว่าเดิม แต่การที่จะดูแลผู้ป่วยให้มีสุขภาพดีขึ้น เราจึงต้องดูแลตัวเองให้ดีก่อน โดยไม่ปล่อยให้เกิดภาวะเครียดเป็นเวลานานจนประสบกับปัญหาสุขภาพตามมา
การช่วยเหลือผู้ดูแลที่มีความเครียด
ยอมรับการช่วยเหลือ: เพื่อนหรือคนในครอบครัวมีส่วนอย่างมากที่จะช่วยเราให้หลุดพ้นจากภาวะความตึงเครียด เช่น เพื่อนอาจจะเสนอให้พาคนที่คุณรักไปเดินเล่น 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวอาจจะจัดช่วงเวลาพิเศษให้ ดังนั้นเราควรจัดหาเวลาเข้าสังคมเพื่อช่วยลดความตึงเครียดในชีวิต
โฟกัสในสิ่งที่คุณสามารถทำได้: เป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกผิดในบางครั้ง แต่ต้องเข้าใจว่าไม่มีใครเป็นผู้ดูแลที่ “สมบูรณ์แบบ” เชื่อว่าเรากำลังทำสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และตัดสินใจได้ดีที่สุดเท่าที่เราสามารถตัดสินใจได้
ตั้งเป้าหมายที่อยู่บนความจริง: แบ่งงานขนาดใหญ่ออกเป็นขั้นตอนเล็ก ๆ ที่คุณสามารถทำทีละชิ้นได้ จัดลำดับความสำคัญสำหรับสิ่งที่ต้องทำและสร้างกิจวัตรประจำวัน หัดปฎิเสธในความต้องการที่เกินขอบเขตงาน เช่น การทำอาหารให้เจ้าของบ้านในวันหยุด
เข้าร่วมชมรมผู้ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ: ผู้คนในชมรมสามารถให้ความรู้และกำลังใจ รวมทั้งกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ผู้คนที่อยู่ในกลุ่มสนับสนุนเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ การอยู่ในกลุ่มสนับสนุนเป็นสถานที่ที่ดีที่สามารถสร้างมิตรภาพที่มีความหมาย
มองหาคนที่อยู่เคียงข้าง: พยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัวและเพื่อนฝูงที่สามารถอยู่เคียงข้างเราได้เมื่อเราเผชิญปัญหา รวมถึงจัดเวลาให้กับพวกเขาเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น
ตั้งเป้าหมายเรื่องสุขภาพของตัวเอง: ตั้งเป้าหมายในการนอนแต่ละวัน หาเวลาออกกำลังกายในแต่ละสัปดาห์ ทานอาหารที่มีสุขภาพดีต่อร่างกายและดื่มน้ำในปริมาณมาก ผู้ดูแลหลายคนมีปัญหาเรื่องการนอนหลับไม่เพียงพอเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ ถ้าคุณมีปัญหาเรื่องนี้ควรไปพบแพทย์
พบแพทย์: หากพบว่าเริ่มมีสภาวะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเครียด ควรไปพบแพทย์ และแจ้งว่าเราเป็นผู้ดูแล และอย่าลังเลที่จะกล่าวถึงความกังวลหรืออาการใด ๆ ที่เรามี
การดูแลเรื่องการพักผ่อน
อาจเป็นเรื่องยาก ที่จะจินตนาการถึงการทิ้งคนที่คุณรักไว้ในความดูแลของคนอื่น แต่การหยุดพัก เป็นหนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดที่คุณทำเพื่อตัวเองเช่นเดียวกัน ดังนั้นอย่าลืมที่จะจัดหาเวลาหยุดพัก
ขอบคุณข้อมูลจาก : mayoclinic