โรคออฟฟิศซินโดรม

 

โรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เป็นกลุ่มของโรคที่เกิดจากลักษณะการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งโต๊ะทำงานต่อเนื่องหลายชั่วโมง ไม่ได้ขยับลุกไปไหน บางคนต้องนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์เกือบตลอดเวลา ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของร่างกายหลายระบบ เช่น มีปัญหาปวดกล้ามเนื้อจากการนั่งทำงานนาน อาการชาที่มือเนื่องจากการกดทับเส้นประสาทที่มือ ปวดเสียดท้องจากการทานอาหารไม่ตรงเวลา สมรรถภาพของร่างลดลงเนื่องจากไม่มีเวลาออกกำลังกาย ฯลฯ

ตัวอย่างโรคในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นโรคทางกระดูกและกล้ามเนื้อ ได้แก่ กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืด (Myofascial pain syndrome) ปวดหลังจากท่าทางไม่เหมาะสม (Postural back pain) เส้นประสาทที่ข้อมือถูกกดทับ (Carpal tunnel syndrome) นิ้วล็อค (Trigger finger) เป็นต้น

 

อาการของโรค

1. ปวดกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น คอ บ่า ไหล่ สะบัก มักมีอาการปวดเป็นบริเวณกว้าง ไม่สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน อาจมีอาการปวดร้าวไปบริเวณใกล้เคียงร่วมด้วย มักมีลักษณะปวดแบบล้าๆ ความรุนแรงมีตั้งแต่ปวดน้อยไปจนถึงมาก

2. อาการของระบบประสารทอัตโนมัติ ซึ่งอาจพบร่วมได้ เช่น ซ่า วูบ เย็น เหน็บ ซีด ขนลุก เหงื่อออกตามบริเวณที่ปวดร้าว ถ้าเป็นบริเวณคอ อาจมีอาการมึนงง หูอื้อ ตาพร่า

3. อาการทางระบบประสาทที่ถูกกดทับ เช่น อาการชาบริเวณแขนและมือ รวมถึงอาการอ่อนแรง หากมีอาการกดทับเส้นประสาทที่นานเกินไป

 

สาเหตุที่ทำให้เป็นโรค

หลายคนอาจจะสงสัยว่า งานในออฟฟิศโดยส่วนใหญ่เป็นงานที่ไม่ต้องใช้แรง ไม่ต้องไปยกของหนัก นั่งทำงานในห้องแอร์ ปัญหาเรื่องปวดกล้ามเนื้อน่าจะมีน้อย แต่จริงๆแล้ว อาการปวดกล้ามเนื้อของคนที่ทำงานในออฟฟิศเกิดจากการที่ไม่มีการเปลี่ยนอิริยาบถ ต้องอยู่ในท่าเดิมเกือบตลอดเวลา หรือ การนั่งทำงานในท่าทางที่ไม่เหมาะสม ส่งผลกระทบให้กล้ามเนื้อเกิดการหดเกร็งค้างท่าเดิม และบางส่วนถูกยืดค้าง เมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือนโดยไม่ได้รับการแก้ไข กล้ามเนื้อบางส่วนจะขมวดเป็นก้อนตึง และทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อได้

 

วิธีป้องกันไม่ให้เป็นโรค

  • หาก Office Syndrome ของคุณยังอยู่ในระดับความรุนแรงไม่มาก เพิ่งเริ่มมีอาการ คุณสามารถป้องกัน ดูแลรักษาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและสภาพแวดล้อมด้วยตัวคุณเอง ดังนี้

1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยตัวคุณเอง

  • เปลี่ยนท่าทางการนั่งหรืออิริยาบทในทำงานของคุณทุกๆ ยี่สิบหรือสามสิบนาที ไม่นั่งหลังค่อม ห่อไหล่ ปรับการวางแขน ข้อศอก และพยายามอย่าบิดข้อมือมากเกินไป พยายามนั่งให้เต็มเบาะ นั่งหลังตรงแนบไปกับพนักพิง ไม่เอนไปหาโต๊ะทำงานมากเกินไป
  • เมื่อเริ่มมีอาการเหนื่อย เมื่อยล้า ควรพักร่างกายและสายตาเพื่อผ่อนคลาย เช่น การขยับ หรือลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย อย่างน้อยทุกๆ ชั่วโมง หรือลุกเดินบ้างเป็นบางครั้ง หรือใส่แว่นที่ช่วยถนอมสายตาที่สามารถตัดแสงสีฟ้าจากหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยถนอมสายตา บรรเทาอาการปวดตา
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อยืดและคลายกล้ามเนื้อ และเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ เช่น โยคะ หรือการออกกำลังกายเบาๆ เป็นต้น
  • พักผ่อนให้เพียงพอ นอนให้ได้ประมาณ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน งดเล่นโทรศัพท์ สมาร์ทโฟน หรือ Laptop ก่อนนอน ปรับที่นอนหรือหาตัวช่วยที่ทำให้นอนหลับสบายมากขึ้น อย่าง หมอนที่เหมาะสมกับหัวของเรา หรือแผ่นปิดตา เทียนหอมที่ช่วยทำให้ผ่อนคลายได้
  • หาเวลาไปพักผ่อน อย่างการลาหยุด ออกไปเที่ยว เพื่อให้สมองและร่างกายได้ผ่อนคลายจากความเครียดในการทำงาน ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบอย่างการดูหนัง ฟังเพลง หรือไปเที่ยวทะเล เดินป่า ใช้เวลาร่วมกับครอบครัว เป็นต้น

2. ปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำงานของคุณ

  • จัดออฟฟิศให้น่าอยู่ สะอาด มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกมากขึ้น จัดแสงไฟให้เหมาะสม และปรับแสงสว่างหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้มากประมาณแสงสว่างภายในห้อง จัดโต๊ะทํางานให้เป็นระเบียบ เพื่อให้สะดวกต่อการเคลือนไหวและการหยิบจับสิ่งของต่างๆ
  • เปลี่ยนสภาพแวดล้อม เพิ่มต้นไม้หรือสีเขียวเข้ามาไว้ในออฟฟิศ เพราะสีเขียวของต้นไม้จะทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายขึ้นได้ หรือเพิ่มมุมพักผ่อนเข้ามาในออฟฟิศ เพื่อให้พนักงานได้ใช้พักเบรกจากการทำงานระหว่างวัน
  • เปลี่ยนอุปกรณ์ในการทำงาน เช่น เปลี่ยนโต๊ะและเก้าอี้ทำงานให้เหมาะสมกับตัว โดยปรับเก้าอี้ให้สามารถนั่งโดยเท้าวางกับพื้นได้
  • ไม่นั่งใกล้หน้าจอมากเกินไป ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมกับระดับสายตา เพื่อให้เราไม่มองก้มหรือเงยมากเกินไป เลือกใช้เมาส์ที่พอดีกับการวางมือ และมีพื้นที่มากพอให้ให้สามารถขยับแขนได้สะดวก

 

 

โปรแกรมอื่นๆ