โรคข้อเข่าเสื่อม

 

โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) เป็นภาวะที่กระดูกอ่อนผิวข้อเข่า มีการสึกหรอและเสื่อมอย่างช้าๆ และจะเป็นมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ทำให้เกิดอาการปวดเข่า เข่าบวม ข้อยึดติด มีเสียงดังในเข่า เข่าผิดรูปไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

โรคข้อเข่าเสื่อมนี้เกิดจากการเสื่อมตามอายุขัยส่วนใหญ่ เกิดกับข้อใหญ่ๆ เช่น ข้อสะโพก ข้อเข่าและข้อกระดูกสันหลัง ปัญหาปวดเข่าพบได้มากในผู้สูงอายุหญิงมากกว่าชาย เนื่องจากขนบธรรมเนียมไทยที่ต้องนั่งคุกเข่าพับเพียบ ขัดสมาธิ ซึ่งเป็นท่าที่ทำให้ข้อเข่าถูกกดพับ และเอ็นกล้ามเนื้อถูกยึดมาก การนั่งเช่นนั้นนานๆ ทำให้การหมุนเวียนของเลือดไปเลี้ยงเข่าไม่ได้ดี และเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุไม่ค่อยชอบออกกำลังกาย อีกทั้งต้องทำงานหนักไม่มีการพัก ประกอบกับน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ทำให้เข่าต้องแบกน้ำหนักส่วนเกินนั้น กล้ามเนื้อจึงหย่อนสมรรถภาพลง จึงทำให้เป็นโรคเข่าเสื่อมได้ง่าย

 

อาการของโรค

  • อาการปวดเข่า เป็นอาการที่สำคัญ เริ่มแรกจะปวดเมื่อยตึงทั้งด้านหน้า และด้านหลังของเข่าหรือบริเวณน่อง เมื่อเป็นมากขึ้นจะปวดบริเวณเข่าเมื่อมีการเคลื่อนไหว ลุกนั่งหรือเดินขึ้นบันไดไม่คล่องเหมือนเดิม
  • มีเสียงในข้อ เมื่อเคลื่อนไหวผู้ป่วยจะรู้สึกมีเสียงในข้อ และปวดเข่า
  • อาการบวม ถ้าข้อมีการอักเสบก็จะเกิดข้อบวม
  • ข้อเข่าโก่งงอ อาจจะโก่งด้านนอกหรือโก่งด้านใน ทำให้ขาสั้นลงเดินลำบาก และมีอาการปวดเวลาเดิน
  • ข้อเข่ายึดติด ผู้ป่วยจะไม่สามารถเหยียดหรืองอขาได้สุดเหมือนเดิม เนื่องจากมีการยึดติดภายในข้อ

 

สาเหตุที่ทำให้เป็นโรค

  • เป็นผลจากความเสื่อม และการใช้เข่าที่ไม่ถูกต้องมานาน
  • ความอ้วน น้ำหนักตัวมากๆ ทำให้เข่าต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้น
  • เคยได้รับอุบัติเหตุบริเวณเข่ามาก่อน เช่น กระดูกบริเวณเข่าหัก, ข้อเข่าเคลื่อนหลุด, เส้นเอ็นฉีกขาด หรือหมอนรองเข่าฉีกขาด
  • โรคข้ออักเสบ เช่น โรคเก๊าท์ หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น

 

วิธีป้องกันไม่ให้เป็นโรค

1. ควบคุมน้ำหนักตัว เพราะเมื่อข้อเข่ารองรับน้ำหนักมากก็มีโอกาสข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น

2. ลดการใช้งานข้อเข่าที่หนักเกินไป เช่น การยกของหนัก การนั่งยองๆ ขัดสมาธิ คุกเข่า พับเพียบนานๆ หรือบ่อยครั้ง หัวเข่าจะได้รับแรงกดทับสูงกว่าปกติ ทำให้มีโอกาสเป็นข้อเข่าเสื่อมได้มากขึ้น

3. ลดการออกกำลังกายที่หักโหมเกินไป หรือ กีฬาที่ใช้แรงปะทะ อาจทำให้หัวเข่ารับน้ำหนักมาก หรือเกิดการยืดหดของเข่าถี่เกินไป เสี่ยงต่อข้อเข่าเสื่อมได้เช่นกัน

4. หมั่นบริหารกล้ามเนื้อต้นขาและกล้ามเนื้อรอบเข่าให้แข็งแรง เพื่อช่วยลดภาระของข้อเข่า

โปรแกรมอื่นๆ