โรคข้อกระดูกสันหลังเสื่อม

โรคข้อกระดูกสันหลังเสื่อม (Cervical – Lumbar Spondylosis) เกิดจากการเสื่อมสภาพของข้อต่อของกระดูกสันหลังรวมถึงหมอนรองกระดูกสันหลังทั้งส่วนคอ อก และเอว ซึ่งเกิดได้จากปัจจัยต่างๆหลายประการ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทําให้ผู้ป่วยมีอาการปวดคอ ปวดหลัง เอว และ/หรือ ปวดเอวร้าวลงขา

 

อาการของโรค

กล้ามเนื้อคอ เอว หลัง จะรู้สึกแข็งเกร็ง นอกจากนี้ปุ่มกระดูกที่งอกออกมา อาจกดทับเส้นประสาทสันหลัง ส่งผลให้ปวดร้าวตามแนวเส้นประสาทนั้น ๆ (เช่น เมื่อเกิดที่กระดูกเอว อาจมีการปวดร้าวลงขาหรือปวดชาบริเวณก้นกบ) หากเป็นเรื้อรัง อาจมีอาการชาในเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อที่ประสาทนั้นๆ ควบคุมอยู่ ในที่สุดอาจเกิดอ่อนแรงร่วมขึ้นได้

 

สาเหตุที่ทำให้เป็นโรค

มักเกิดจากการใช้งานกระดูกสันหลังมากและอายุที่มากขึ้น ส่งผลให้ข้อต่อระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้ออักเสบ ทำให้ช่องว่างระหว่างข้อแคบลง และทำให้ขาดความยืดหยุ่นระหว่างข้อต่างๆ ในที่สุดอาจมีปุ่มกระดูกงอกออกมา โดยเกิดขึ้นระหว่างข้อ และบริเวณรอบๆช่องทางออกของประสาทสันหลัง

 

วิธีป้องกันไม่ให้เป็นโรค

1. ปรับท่าทางในชีวิตประจำวันให้ถูกต้อง ตั้งแต่ การนั่ง การยืน การเดินในท่าทางที่ถูกต้อง เช่น การนั่งที่ดีต้องนั่งหลังตรงมีพนักพิงหลัง หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือถ้าจำเป็นต้องยกของหนัก ควรที่จะยกขึ้นมาแบบหลังตรง เป็นต้น

2. ปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ เพราะการนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ เช่น นั่งหลังงอและก้มคอทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ติดต่อกันหลายชั่วโมงก็เป็นผลเสียต่อข้อต่อบริเวณคอ และกระดูกสันหลังส่วนเอว การนั่งที่ถูกต้อง คือ การนั่งพิงพนักเก้าอี้ และไม่ควรก้มคอนาน ๆ

นอกจากนั้น ควรหาโอกาสขยับตัว โดยลุกขึ้นมาเดินบ้าง ยืดแขนยืดขาบ้างเพื่อเป็นการบริหารข้อต่อ

3. การควบคุมน้ำหนักตัว เพื่อลดภาระของกระดูกในการรับน้ำหนัก โดยเฉพาะน้ำหนักตัวที่มากเกินไปจะเป็นภาระกระดูกสันหลังในการรับน้ำหนัก โอกาสที่กระดูกสันหลังเสื่อมจะมีมากตามมา

 

4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อกระดูกและข้ออย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ปลาเล็กปลาน้อย ที่สามารถรับประทานได้ทั้งก้าง นมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต งา โดยเฉพาะงาดำ ผักใบเขียวชนิดต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น นมถั่วเหลือง เต้าหู้ เต้าเจี้ยว และผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียม

5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกระดูกด้วยการเดิน วิ่ง เพราะกล้ามเนื้อเป็นส่วนสำคัญในการแบ่งเบาภาระต่าง ๆ ของกระดูกด้วย

6. การรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันเซลล์เสื่อม เช่น ผักและผลไม้ที่รสไม่หวานมาก รับประทานให้ครบทั้ง 5 สี เช่น ผลไม้ตระกูลเบอรี่ และผักผลไม้ที่มีเบต้าแคโรทีนสูง ๆ คือ ผัก และผลไม้ที่มีสีส้ม เหลือง หรือ แดง เช่น แครอท ฟักทอง หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดอ่อน แตงโม แคนตาลูป มะละกอสุก และผักที่มีสีเขียว เช่น บรอคโคลี มะระ ผักบุ้ง ต้นหอม ผักคะน้า ผักตำลึง เป็นต้น

โปรแกรมอื่นๆ