โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ

โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ เป็นโรคในกลุ่มการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากเกิดพังผืดที่หนาตัวขึ้นบริเวณข้อมือด้านฝ่ามือ ไปกดทับถูกเส้นประสาทมีเดียน (median nerve) ซึ่งอยู่ผ่านช่องข้อมือแขนงไปยังนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วหัวแม่มือ โดยเมื่อเส้นประสาทถูกกดทับ จะทำให้มีอาการปวดและชาตามนิ้ว และถ้าเส้นประสาทถูกกดทับนานๆ ก็จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณฝ่ามือ ด้านนิ้วหัวแม่มือลีบและเล็กลง

 

อาการของโรค

  • ชา เป็นเหน็บ และปวดแสบปวดร้อนบริเวณฝ่ามือกับนิ้วมือ โดยเฉพาะนิ้วโป้งและนิ้วชี้ อาจรู้สึกเหมือนถูกไฟช็อตที่นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางเป็นบางครั้ง
  • ปวดหรือเป็นเหน็บไล่จากปลายแขนไปยังหัวไหล่
  • บางรายที่ถูกกดทับเป็นเวลานาน จะเริ่มมีอาการอ่อนแรงของข้อมือ เช่นจะรู้สึกว่าไม่ค่อยมีแรงเวลากำมือ การใช้มือหยิบของเล็กๆ จะทำได้ลำบาก ไม่สามารถใช้มือได้ตามปกติในชีวิตประจำวัน
  • มีกล้ามเนื้อลีบที่ฝ่ามือ

อาการของโรคนี้มักเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาจแสดงอาการเพียงชั่วคราวในช่วงแรก และกำเริบบ่อยขึ้นหรือมีอาการนานมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมักเริ่มมีอาการตอนกลางคืนหรือหลังตื่นนอน มักรู้สึกดีขึ้นเมื่อได้ขยับหรือสะบัดมือ อาการจะชัดเจนมากขึ้นหลังจากทำงานที่ต้องเคลื่อนไหวข้อมือ หรือใช้ข้อมือหยิบจับและถือสิ่งของเป็นเวลานาน เช่น ทำงานบ้าน ซักผ้า บิดผ้า หั่นเนื้อสัตว์ ตำน้ำพริก ใช้โทรศัพท์ อ่านหนังสือ จับพวงมาลัยขณะขับรถ เป็นต้น

 

สาเหตุที่ทำให้เป็นโรค

เป็นโรคที่พบได้บ่อยในวัยกลางคน พบได้บ้างในวัยสูงอายุ โดยทั่วไปทั้งผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ แต่มักพบว่าเพศหญิงเป็นโรคนี้มากกว่า สาเหตุเกิดจากการมีความดันเพิ่มขึ้นในโพรงข้อมือ (Carpal tunnel) ซึ่งโพรงข้อมือนี้จะอยู่บริเวณฝ่ามือ ภายในโพรงข้อมือจะประกอบไปด้วยเส้นเอ็น เยื่อหุ้มเอ็น และเส้นประสาทที่ใช้ในการงอนิ้ว ซึ่งเส้นประสาทนี้คือเส้นประสาทมีเดียน(Median nerve) ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่ทำให้เกิดพยาธิสภาพในโรคนี้

จากการวิจัยทั้งในและต่างประเทศพบว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้สูงที่สุด คือกลุ่มผู้ที่ใช้งานข้อมือในท่าเดิมๆ เป็นเวลานาน เช่น คนที่ทำงานคอมพิวเตอร์ ที่ต้องใช้เมาส์กดแป้นคีย์บอร์ด การเย็บผ้า ถักนิตติ้ง โดยใช้ข้อมือเป็นจุดหมุน หรือการงอมือเป็นเวลานาน เช่น การกวาดบ้านนานๆ การรีดผ้า การหิ้วถุงที่มีการงอข้อมือ การสั่นกระแทกในลักษณะการทำงานก่อสร้าง งานคอนกรีต หรือเกิดจากอายุที่มากขึ้น ทำให้พังผืดเกิดการหนาตัว นอกจากนี้ผู้ที่มีข้อมือค่อนข้างกลมจะมีโอกาสเกิดโรคนี้สูงไปด้วย

 

วิธีป้องกันไม่ให้เป็นโรค

  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น พักมือหลังใช้งานเป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้อาการแย่ลง เช่นงานในลักษณะเกร็งข้อมือนานๆ งานที่ต้องใช้มือกระดกขึ้น รวมถึงงานที่มีการสั่นกระแทก จนทำให้ความดันในโพรงข้อมือสูงขึ้นด้วย ร่วมกับการประคบเย็นเมื่อมือบวม เพื่อชะลอหรือป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดกับเส้นประสาทมีเดียนที่ข้อมือ
  • การใส่เฝือกและอุปกรณ์ช่วยพยุง เพื่อจัดวางให้เส้นประสาทมีเดียนอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ไม่ตึงตัว หรือถูกกดทับ โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยต้องนอนหลับ หรือทำกิจกรรมที่อาจทำให้อาการของโรคแย่ลง
  • การทำกายภาพบำบัดมือ นักกายภาพบำบัดจะแนะนำวิธีและขั้นตอนการทำกายภาพบำบัด บริเวณข้อมือ เพื่อให้เส้นประสาทมีเดียนเคลื่อนไหวในช่องข้อมือได้สะดวกขึ้น
  • การรับประทานยาแก้อักเสบกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน และแอสไพริน
  • การใช้ยาสเตียรอยด์ ได้แก่ การฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์กับคอร์ติโซน เช่น ลิโดเคน เข้าไปในโพรงข้อมือรอบๆ เส้นประสาท และการรับประทานยาเพรดนิโซโลน เพื่อลดการอักเสบและอาการปวด บางรายอาจหายได้ พบว่าได้ผลดีเฉลี่ย 40-50 เปอร์เซ็นต์ แต่การรักษาด้วยวิธีนี้มักได้ผลเพียงชั่วคราว และไม่ควรใช้รักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของโรค และปัจจัยอื่นๆ
  • การรักษาโรคประจำตัวอื่นๆ ผู้ป่วยโรคเบาหวานและข้ออักเสบ ควรเข้ารับการรักษาและควบคุมอาการของโรคนั้นๆ ให้ดีเสมอ เพื่อป้องกันอาการกำเริบหรือผลข้างเคียงอื่นๆ ที่เป็นอันตราย

โปรแกรมอื่นๆ