โรคนอนไม่หลับ

โรคนอนไม่หลับ

โรคนอนไม่หลับ หรือ Insomnia คือ ภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการนอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท นอนหลับยาก ใช้เวลานอนนานกว่า 20 นาทีถึงจะหลับได้ โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย แต่มักพบมากในผู้หญิงและคนชรา ซึ่งโรคนอนไม่หลับนี้อาจส่งผลให้เกิดการสูญเสียสมรรถภาพในการทำงาน อ่อนเพลีย ขาดสมาธิ นอกจากนี้อาจส่งผลให้เกิดปัญหาด้านความทรงจำ (Memory Problems) ภาวะซึมเศร้า (Depression) อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย (Irritability) ภูมิคุ้มกันต่ำ อีกทั้งเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจอีกด้วย
 

แบ่งออกได้เป็น 3 ระดับดังนี้

  1. อาการนอนไม่หลับชั่วคราว (Transient insomnia) มักพบในช่วงการเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวัน สิ่งแวดล้อมที่ไม่คุ้นชิน หรืออาจเกิดจากอาการ Jet lag เมื่อเดินทางข้ามเส้นแบ่งเวลาโลก (Time zone)

  2. อาการนอนไม่หลับระยะสั้น (Short-term insomnia) มักเกิดเพียง 2-3 วันจนถึง 3 สัปดาห์ อาจพบได้เนื่องจากเกิดภาวะเครียด

  3. อาการนอนไม่หลับเรื้อรัง (Long-term or Chronic insomnia) เกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานอาจเป็นเดือน หรือเป็นปี ซึ่งอาจเกิดผลจากการใช้ยา การเจ็บป่วยเรื้อรังไม่ว่าทางด้านร่างกายและจิตใจ หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของการนอนหลับโดยตรง (Primary sleep disorder)
     

สาเหตุของโรคนอนไม่หลับ (Insomnia)

อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่ปัจจัยทางด้านร่างกาย จิตใจ สภาพแวดล้อมและอุปนิสัยการนอน (Sleep hygiene)

  • ปัจจัยทางด้านร่างกาย อาจมีความผิดปกติระหว่างการนอน เช่น มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea) หรือมีปัญหาจากอาการอื่น เช่น อาการเจ็บป่วย มีไข้ โรคกรดไหลย้อน บางคนอาจมีระบบประสาทที่ตื่นตัวมากกว่าปกติจึงทำให้หลับยาก

  • ปัจจัยทางด้านจิตใจ อาจเกิดจากความเครียด ความวิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคไบโพล่าร์

  • ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดจากการมีเสียงรบกวน หรือมีแสงไฟรบกวน

  • อุปนิสัยการนอนที่ไม่ถูกสุขลักษณะ โดยการทำกิจกรรมต่างๆที่ส่งผลให้นอนไม่หลับ เช่น การเล่นเกมส์ การเล่นโทรศัพท์มือถือก่อนนอน การดื่มเครื่องดื่มที่มีสารกระตุ้นคาเฟอีน เป็นต้น
     

อาการของโรค Insomnia
สามารถพบได้หลายรูปแบบ เช่น

  • ต้องใช้เวลานานกว่าจะนอนหลับได้

  • ชั่วโมงนอนน้อยเกินไป (ดูหัวข้อด้านบน เรื่องระยะเวลาการนอนที่เหมาะสมในแต่ละอายุ)

  • หลับแล้วตื่นบ่อยๆ (Interrupted sleep)

  • ตื่นแล้วไม่สามารถนอนหลับได้อีก

  • ง่วงนอนในเวลากลางวัน แต่นอนไม่หลับในเวลากลางคืน เหล่านี้ เป็นต้น