โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า เป็นอาการผิดปกติของอารมณ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยทั้งด้านความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม โรคซึมเศร้าเป็นภาวะอารมณ์เศร้าหมองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความรู้สึกเฉยชา ไม่สนใจสิ่งต่าง ๆ ส่งผลต่อความสามารถในการทำงานในแต่ละวัน ซึ่งก่อให้เกิดอาการทางจิตได้มากมาย การดำเนินชีวิตตามปกติอาจทำได้อย่างยากลำบากหรือรู้สึกว่าชีวิตไม่มีค่า

ภาวะซึมเศร้าไม่ใช่ความรู้สึกไม่สบายกายหรือไม่สบายใจที่สามารถสลัดออกไปได้ง่าย ๆ ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและยาวนานซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยถอดใจ การรักษา เช่น การทานยาหรือจิตบำบัด หรือทั้งสองอย่าง สามารถช่วยผู้ป่วยส่วนใหญ่ให้กลับมามีอาการที่ดีขึ้น
 

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

สาเหตุที่แท้จริงของโรคซึมเศร้านั้นยังไม่ทราบแน่ชัด เพราะอาการนั้นสัมพันธ์กับความผิดปกติทางจิต ปัจจัยหลาย ๆ ด้านจึงอาจส่งผลกระทบได้

  • ความแตกต่างทางด้านชีวภาพ : ได้พบความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสมองในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต่อโรคซึมเศร้ายังไม่เป็นที่ประจักษ์ชัด แต่อาจจะช่วยชี้นำไปสู่สาเหตุของโรคได้

  • สารเคมีในสมอง : สารสื่อประสาทในสมองส่งผลต่อความรู้สึก จากงานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมองและปฏิสัมพันธ์ของสารดังกล่าวกับวงจรระบบประสาท อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งสำคัญต่อการรักษา

  • การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน : ระดับฮอร์โมนที่ไม่สมดุลอาจจะเป็นตัวกระตุ้นภาวะซึมเศร้า โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ หลังคลอดบุตร หรือหลังหมดประจำเดือน ผู้ป่วยอาจมีอารมณ์แปรปรวนหากมีภาวะโรคไทรอยด์หรือโรคอื่น ๆ

  • พันธุกรรม : ความเสี่ยงของการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้นหากสมาชิกในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน


โรคซึมเศร้า มีอาการอย่างไร?
    เมื่อมีอาการซึมเศร้าครั้งหนึ่งแล้ว อาการอาจกำเริบขึ้นได้อีก ภาวะโรคซึมเศร้ามักจะเกิดขึ้นเป็นระลอก อาการที่อาจพบได้เสมอๆ ได้แก่

  • รู้สึกเศร้า ว่างเปล่า อยากร้องไห้ สิ้นหวัง

  • รู้สึกโกรธ หงุดหงิด รำคาญเรื่องเล็กน้อย

  • หมดความสนใจ หรือรู้สึกไม่สนุกกับกิจกรรมส่วนใหญ่หรือกิจกรรมทั้งหมดในชีวิตประจำวัน เช่น เพศสัมพันธ์ กีฬา หรืองานอดิเรก

  • ปัญหาด้านการนอนหลับ เช่น นอนมากเกินไป หรือ นอนไม่หลับ

  • เหนื่อยล้า ไม่มีความกระตือรือร้นที่จะทำเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ

  • ความอยากอาหารลดลง น้ำหนักลด หรือ ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น น้ำหนักขึ้น

  • รู้สึกวิตกกังวล กระสับกระส่าย ประหม่า

  • คิดช้าลง พูดหรือขยับร่างกายช้าลง

  • รู้สึกไร้ค่า รู้สึกผิด หมกหมุ่นเรื่องความล้มเหลวที่ผ่านมาแล้วหรือโทษตัวเอง

  • ขาดสมาธิ มีปัญหาเรื่องความจำ หรือไม่สามารถคิดหรือตัดสินใจเองได้

  • คิดถึงเรื่องความตาย การพยายามฆ่าตัวตายบ่อย ๆ

  • มีอาการป่วยทางกายที่ไม่พบสาเหตุ เช่น ปวดหัว ปวดหลัง

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักมีอาการมากจนกระทบชีวิตประจำวัน เช่น การไปโรงเรียน การทำงาน หรือการพบปะสังสรรค์ บางรายอาจรู้สึกเศร้าหมอง ไม่มีความสุขโดยไม่ทราบสาเหตุ
 

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคซีมเศร้า

แบบสอบถามภาวะอารมณ์เศร้า (Patient Health Questionnaire; PHQ9) เป็นแบบสอบถามทีใช้เพื่อช่วยในการประเมินว่าผู้ตอบมีมีภาวะซึมเศร้าหรือไม่ รุนแรงมากน้อยเพียงใด เป็นมากจนถึงระดับที่ไม่ควรจะปล่อยทิ้งไว้หรือไม่ แบบสอบถามนี้ไม่ได้บอกว่าเป็นโรคอะไร เพียงแต่ช่วยบอกว่าภาวะซึมเศร้าที่มีอยู่ในระดับไหนเท่านั้น 

  • ข้อดีอย่างหนึ่งของแบบสอบถามนี้คือสามารถใช้ช่วยในการประเมินระดับความรุนแรงของอาการได้ ว่าแต่ละขณะเป็นอย่างไร อาการดีขึ้นหรือเลวลง การรักษาได้ผลหรือไม่ ผู้ป่วยอาจทำและจดบันทึกไว้ทุก 1-2 สัปดาห์ โดยถ้าการรักษาได้ผลดีก็จะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นโดยมีค่าคะแนนลดลงตามลำดับ