โรคพาร์กินสัน
โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) เป็นโรคความเสื่อมทางสมองที่เกิดจากเซลล์ประสาท ในบางตําแหน่งเกิดการตาย ทําให้สารสื่อประสาทในสมอง ชื่อว่า โดปามีน (Dopamine) มีปริมาณลดลง มักพบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยโรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันกะทันหันอย่างโรคร้ายแรงอื่น แต่จะกระทบกับการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยในระยะยาว
อาการของโรค
โรคพาร์กินสันมีลักษณะอาการที่สำคัญอยู่ 4 ลักษณะ ได้แก่
1. อาการสั่นขณะช่วงการพัก (Resting tremor) โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่นิ้วมือก่อน แล้วตามด้วยข้อมือและแขน เมื่อผ่านไปนานขึ้นก็จะเกิดอาการสั่นทั่วร่างกาย อาการสั่นจะเกิดขณะที่ร่างกายไม่ได้ใช้งาน เช่น ขณะนั่งพัก เมื่อเกิดอาการเครียดอาการสั่นจะแรงขึ้น โดยนิ้วมือที่มีอาการสั่นจะมีลักษณะเฉพาะที่เรียกว่า Pill-rolling คือเหมือนกำลังปั้นยาลูกกลอนอยู่
2. เคลื่อนไหวร่างกายช้าลง (Bradykinesia) การเคลื่อนไหวร่างกายส่วนต่างๆ จะเกิดน้อยลงและช้าลง การแสดงสีหน้าต่างๆลดลง ผู้ป่วยจะมีหน้าตายเหมือนใส่หน้ากากอยู่ เสียงพูดเบาลง พูดไม่มีจังหวะสูงต่ำ บางคนอาจมีน้ำลายไหลออกจากมุมปาก การเคลื่อนไหวของลำตัวและขาช้าลง เดินช้าลง ก้าวขาสั้นลง แขนไม่ค่อยแกว่ง เมื่ออาการเป็นรุนแรงขึ้น เริ่มต้นก้าวเดินจะทำไม่ได้ชั่วคราว นอกจากนี้การเคลื่อนไหวของมือและแขนที่ลดลง ทำให้ลายมือที่เขียนหนังสือเปลี่ยนไป การใช้งานในชีวิตประจำวันอื่นๆก็ทำได้ลำบากขึ้น นอกจากนี้ยังรวมถึง อาการที่ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลีย แขนขาไม่มีแรงด้วย
3. ร่างกายมีสภาพแข็งเกร็ง (Rigidity) คือ เมื่อจับแขนหรือขาของผู้ป่วยแล้วเคลื่อนไหวไปมา จะรู้สึกมีแรงต้านทานเกิดขึ้น เคลื่อนไหวไม่ได้ง่ายเหมือนคนปกติ
4. การทรงตัวขาดความสมดุล (Postural instability) ส่วนใหญ่จะพบเมื่อโรคเป็นมานานแล้ว โดยเวลาที่ผู้ป่วยยืน ช่วงลำตัวจะเอนไปด้านหน้า ทำให้จุดศูนย์ถ่วงของลำตัวเอนไปด้านหน้าเช่นกัน ผู้ป่วยจึงเสี่ยงต่อการล้มได้ง่ายโดยเฉพาะเวลาเดิน
นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วยโดยเฉพาะอาการทางจิตประสาท เช่น ภาวะซึมเศร้า อาการวิตกกังวล การนอนหลับผิดปกติ อาการหลงลืม ความจำเสื่อม เป็นต้น
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค
โรคพาร์กินสันความจริงแล้วเริ่มที่ไหน ยังไม่มีใครทราบอย่างแท้จริง แต่ข้อมูลของการศึกษาในปัจจุบันได้บอกถึงการเสื่อมของระบบประสาทในโรคพาร์กินสันว่าอาจเริ่มจากระบบประสาทอัตโนมัติส่วนปลายที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้ ซึ่งสามารถอธิบายอาการท้องผูกซึ่งเป็นหนึ่งในอาการเตือนได้ และการเสื่อมของระบบประสาทจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นมายังบริเวณก้านสมองส่วนล่าง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการนอนละเมอ จนกระทั่งการเสื่อมนั้นมาถึงก้านสมองส่วนบนผู้ป่วยจะมีอาการสั่นและการเคลื่อนไหวช้าเกิดขึ้น