โรคข้อสะโพกเสื่อม
โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip Osteoarthritis) เป็นรูปแบบหนึ่งของข้ออักเสบ ที่เกิดจากกระดูกอ่อนที่คลุมพื้นผิวของข้อเสื่อมสลายไปจากสาเหตุต่างๆ จนทำให้เกิดอาการปวดและมีการเคลื่อนไหวติดขัด หากอาการรุนแรงอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเดิน การแต่งตัว ผูกเชือกรองเท้า ขึ้นลงบันได รวมถึงการนอนหลับ
อาการของโรค
1. อาการเริ่มแรกของโรคข้อสะโพกเสื่อม คือ อาการปวดบริเวณขาหนีบหรือต้นขาด้านหน้า, การเคลื่อนไหว ข้อสะโพกติดขัด อาการจะมากขึ้นเมื่อทำกิจกรรม และจะดีขึ้นเมื่อได้พัก
2. หากอาการปวดรุนแรงจนต้องอยู่นิ่งๆ ไม่สามารถหมุนหรือเหยียดข้อสะโพกได้ อาจทำให้ขาอ่อนแรงลงเนื่องจากกล้ามเนื้อที่ควบคุมข้อสะโพกอ่อนแอ จากการใช้งานที่น้อยลง
3. เมื่อข้อสะโพกเกิดการอักเสบ อาจเกิดปุ่มกระดูกงอกขึ้นรอบๆ ข้อ ถ้ากระดูกอ่อนที่รองอยู่สึกหายไปหมด อาจทำให้เกิดอาการปวดรุนแรงเมื่อกระดูกเสียดสีกัน และขาจะสั้นลง
สาเหตุที่ทำให้เป็นโรค
1. อายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไป
2. ร่างกายต้องทำงานหนัก จากการประกอบอาชีพ และการดำเนินชีวิตประจำวัน
3. โรคประจำตัว เช่น โรครูมาตอยด์ โรคกระดูกสะโพกขาดเลือดไปเลี้ยง (ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน อาจสัมพันธ์กับโรคประจำตัวบางอย่าง และการใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์)
4. ภาวะการติดเชื้อ
5. การประสบอุบัติเหตุที่ทำให้สะโพกหัก
วิธีป้องกันไม่ให้เป็นโรค
- ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต ได้แก่ การใช้สะโพกอย่างถูกวิธี นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายเบาๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น ว่ายน้ำ แอโรบิกในน้ำ หรือ ขี่จักรยาน
- ลดน้ำหนัก หากมีน้ำหนักตัวมากเกินไป เพื่อลดแรงกดบนข้อ